ประวัติ บ้านควนชุม
มีหลักฐานทราบที่แน่ชัด แต่มีเรื่องราวเล่าสืบเป็นตำนาน พอจะจับเค้าได้ว่า สมัยพระยาศรีธรรมโศกราช (เจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราช) ได้สร้างพระบรมธาตุ (พระบรมธาตุเจดี) ขึ้นที่ หาดทรายแก้ว (พ.ศ. 1098)เจ้าผู้ครองนครลังกา ทราบข่าวก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาได้รวบรวมทรัพย์สินเงินทอง โดยเฉพาะทองคำ เพื่อนำมาสร้างปรียอดพระบรมธาตุ เดินทางมาโดยเรือสำเภาพร้อมข้าราชบริพารจำนวนมาก พร้อมกับนางชี ซึ่งนางเป็นที่เคารพนับถือของนักเดินทางร่วมมาด้วย ภายในเรือสำเภามีพระพุทธรูปทองคำ ฆ้องทองคำ และของมีค่ามากมาย เมื่อเดินทางมาถึงเขตอำเภอร่อนพิบูลย์ ถึงเกาะแห่งหนึ่ง “เกาะคนชุม”เรือสำเภาเกิดอัปปาง และขณะนั้นเจ้าผู้ครองนครลังกา ทราบข่าวว่าการสร้างพระบรมธาตุเสร็จแล้ว ก็เกิดความเสียใจที่ไม่สามารถร่วมสร้างพระบรมธาตุได้ จึงพักอยู่ที่เกาะแห่งนี้ อยู่ระยะหนึ่ง และได้หาที่ทำเลเหมาะสมบนยอดเกาะ สร้างพระพุทธรูปไว้ที่เกาะนี้ เพื่อทดแทนการที่ไม่ได้ร่วมสร้างพระบรมธาตุซึ่ง พระพุทธรูปองค์นี้ ปัจจุบันเป็นพระประธานอยู่ในอุโบสถวัดควนชุม มีลักษณะที่งดงามหาที่ตำนิไม่ได้ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก กล่าวกันว่ามีช่างฝีมือมาลอกแบบหรือถ่ายแบบเพื่อนำไปสร้างพระพุทธรูปแบบเหมือนพระพุทธรูปองค์นี้ ปรากฏว่า แบบที่ได้ไปไม่สมบูรณ์แบบ เช่นพระพักตร์บิดเบี้ยว
กล่าวกันว่า นางชีได้นำข้าวของมีค่าต่างๆ มาอยู่ในถ้ำที่เกาะนี้ซึ่งต่อมาถ้าแห่งนี้ได้ชื่อว่า “ถ้ำนางชี ” ปัจจุบันถ้ำแห่งนี้ถูกดินทับถมปิดปากถ้ำไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าถ้ำอยู่แห่งใดของเกาะ ส่วนพระพุทธรูปทองคำเล่ากันว่า ได้นำมาประดิษฐานของเกาะและโบกปูนทับไว้ เพื่อป้องกันการโจรกรรม
เรื่องราวของเกาะคนชุม ได้เลือนหายไปจากความทรงจำ ไม่มีใครทราบว่าบนเนินเกาะมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่กลางป่า จนกระทั่งเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น เมื่อมีช้างป่าอาละวาด แทงไม้น้อยใหญ่ระเนระนาด และได้มีผู้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งตั้งอยู่กลางแดด จึงมีผู้คนเดินทางไปกราบไหว้ และมีการสร้างหลังคากันแดดกันฝนให้ ภายหลังได้มีผู้คนเข้าไปอาศัยอย่างหนาแน่น กลายเป็นชุมชนย่อย และได้จัดสร้างวัดขึ้นบนเนิน บริเวณทะเลก็ตื้นเขินกลายเป็นทุ่งนาไปหมด เกาะคนชุมจึงกลายสภาพเป็นเนินหรือควน ซึ่งต่อมากลายเป็นที่มาของชื่อ จาก “เกาะคนชุม” เป็น “ควนคนชุม” ต่อมาภาษากร่อนไปเป็น “ควนชุม”
แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ตำบลควนชุม
ดาวน์โหลดไฟล์